โครงการประปาเพื่อการเกษตร
ความหมาย
แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาที่จะอยู่ใกล้และเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศ
ทั้งด้านการเกษตรและสาธารณสุข เพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภค หากพื้นที่ใดไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติและฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล พื้นที่เหล่านั้นก็จะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ เพื่อการยังชีพ
ซึ่งเป็นปัญหาวิกฤตที่นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ปัญหาดังกล่าวควรที่จะได้รับการแก้ไขและการสนับสนุนจากทุกฝ่าย เพื่อบรรเทาความวิกฤต และไม่ควรเน้นเทคโนโลยีที่มีราคาแพงดังเช่นอดีต หากจะรอให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ราษฎรในถิ่นทุรกันดารจะยังคงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ ไปอีกนาน ดังนั้น สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2517 ดำเนินงานด้านการพัฒนาชนบท การศึกษา การเกษตร การอุตสาหกรรม การสาธารณสุข
และการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การสนับสนุนและส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบุคคลต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ และเพื่อให้การดำเนินงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในถิ่นทุรกันดารได้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นจึงได้จัดตั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2523 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นโครงการที่ดำเนินการพัฒนาชนบทควบคู่กับการสาธารณสุข
โดยพยายามสนับสนุนให้ราษฎรในถิ่นทุรกันดารมีน้ำดื่ม น้ำใช้ อย่างเพียงพอและยั่งยืน
วัตถุประสงค์
- เพื่อจัดหาน้ำที่เหมาะสมใช้ในการอุปโภคและบริโภคในครัวเรือน
- เพื่อใช้เป็นน้ำดื่ม น้ำใช้ ในครัวเรือนในแต่ละหมู่บ้าน โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดำเนิน การก่อสร้างระบบประปาร่วมกัน
- เพื่อให้ราษฎรมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรในบริเวณหมู่บ้านของตนเอง
- เพื่ออบรมด้านการบริหารจัดการและการซ่อมบำรุง และจัดตั้งคณะกรรมการบริหารชุมชนขึ้น เพื่อปฏิบัติหน้าที่บริหารโครงการฯ ของชุมชนให้ดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์ที่ได้รับ
- สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้น มีผลผลิตภาคเกษตรไว้บริโภคและมีน้ำใช้ทำการเกษตร อย่างเพียงพอ
- มีกลุ่มองค์กรชาวบ้านที่มีกองทุนหมุนเวียนในการทำกิจกรรมการเกษตรผสมผสาน และสามารถดำเนินการได้เอง และเป็นตัวอย่างแก่ชุมชนใกล้เคียงต่อไป
- สมาชิกในกลุ่มโครงการธนาคารผักมีทักษะในเชิงการผลิต และการตลาดควบคู่กัน
- มีอาชีพและมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลผลิตการเกษตร และสามารถลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้ในระดับหนึ่ง
- ลดปัญหาการอพยพแรงงาน
จำนวนหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด
กลุ่มราษฎรที่มีฐานะยากจน และขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ ในเขตพื้นที่ดำเนินการ จำนวน 100 ครัวเรือน
หลักเกณฑ์ในการก่อสร้างประปาเพื่อการเกษตร
- เป็นหมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้
- มีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดี และปริมาณเพียงพอสำหรับราษฎรทั้งหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง
- มีระบบไฟฟ้าภายในหมู่บ้านหรือบริเวณใกล้เคียง
- ราษฎรมีความพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในลักษณะชุมชนช่วยชุมชน
- สมาคมฯ จะจัดตั้งกองทุนซ่อมบำรุงระบบประปาขั้นต่ำ ระบบละ 30,000 บาท
- สมาคมฯ จะรับประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีเหตุเกิดจากภัยธรรมชาติหรือเกิดขึ้นโดยมิได้ตั้งใจ โดยจะซ่อมแซมและจัดหาอะไหล่ทดแทนภายในระยะเวลา 1 ปี หลังจากเริ่มดำเนินการ
- สมาคมฯ จะมอบการบริหารจัดการระบบประปาเพื่อการเกษตรให้กับหมู่บ้านนั้นๆหลังจากที่กลุ่มมีการคืนค่าระบบทั้งหมด
- สมาคมฯจะนำเงินที่ได้รับคืนจากค่าระบบมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการจัดสร้างระบบประปาเพื่อการเกษตรในหมู่บ้านอื่นๆ ที่ขาดแคลนน้ำต่อไป
ขั้นตอนการดำเนินงาน
- เตรียมชุมชนและข้อมูลหมู่บ้าน
- สำรวจพื้นที่และแหล่งน้ำ
- ประชุมชี้แจงโครงการฯ
- รับสมัครสมาชิก
- ศึกษาดูงาน
- คัดเลือกสมาชิก
- ทดสอบคุณภาพน้ำและปริมาณน้ำ (ใต้ดิน ผิวดิน)
- คัดเลือกคณะกรรมการบริหารจัดการกลุ่ม
- ดำเนินการก่อสร้างระบบ
- อบรมคณะกรรมการบริหารกลุ่ม
- อบรมสมาชิกในด้านการเกษตร
- อบรมการตลาดและศึกษาดูงาน
- ส่งเสริมการปลูกพืช
- รายงานความก้าวหน้าให้ผู้สนับสนุนทราบทุก 6 เดือน