โครงการส่งเสริมและสนับสนุนระบบน้ำเพื่อผลิตผักปลอดสาร พิษ สูบน้ำด้วยโซล่าเซลล์
ความหมาย
ในแผนการพัฒนาฯของประเทศไทยนั้น ได้เผชิญกับปัญหาต่างๆและมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จักต้องมีการเตรียมความพร้อมของคนและระบบให้สามารถปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทุกภาคส่วน ทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการบริหารจัดการภาครวมของประเทศ เพื่อให้คนไทยได้อยู่ดีมีสุขและให้สามารถอยู่ได้ยั่งยืนภายใต้สภาพการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมากระทบ
โดยภาพรวมแล้วประเทศไทยยังมีสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่อิงกับภาคเกษตรเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีพื้นที่ทำการเกษตรมากถึง 1 ใน 3 ของประเทศ แต่มีผลผลิตทางการเกษตรต่อพื้นที่ต่ำ ด้วยขาดแคลนระบบชลประทาน
ซึ่งในภาพรวมแล้ว ระบบชลประทานในภาคนี้มีเพียง 20% ของพื้นที่ จึงเห็นได้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนหรือมีแหล่งน้ำในพื้นที่ แต่เกษตรกรขาดความรู้ และเทคโนโลยีนำน้ำมาใช้ จึงเห็นได้ว่าใน 1 ปีหรือ 12 เดือนเกษตรกรทำนา 4 เดือนอีก 8 เดือนจึงไม่รู้จะทำอะไร ด้วยไม่มีน้ำทำการเกษตร สิ่งเหล่านี้ทำให้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมตามมาอย่างมากมาย
ดังนั้นสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาชนบทมากกว่า 40 ปี ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมเกษตรให้ลดลง ด้วยการดำเนิน โครงการส่งเสริมและสนับสนุนระบบน้ำเพื่อผลิตผักปลอดสารพิษ สูบน้ำด้วยโซล่าเซลล์ เพื่อการสร้างงาน สร้างตลาด สร้างรายได้ ที่มาจากภาคการเกษตรซึ่งลักษณะของการดำเนินงานเป็นการสนับสนุนให้เกิดระบบน้ำเพื่อการเกษตรสูบด้วยพลังงานโซล่าเซลล์ในแปลงรวม ที่จะให้เกษตรกรมาร่วมกันทำกิจกรรม เช่น ปลูกผักปลอดสารพิษ ที่จะสามารถทำการเกษตรได้ตลอด
โดยจะสนับสนุนให้มีน้ำไหลสู่พื้นที่การเกษตรทุกแปลงในโครงการตลอดทั้งปี
วัตถุประสงค์
- เพื่อสนับสนุนการสูบน้ำด้วยระบบโซล่าเซลล์ สำหรับปลูกผักปลอดสารพิษในแปลงรวม
- เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกพืชผักในแปลงรวม ก่อให้เกิดอาหารและรายได้
- เพื่อส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการกิจกรรมโดยกลุ่มเกษตรกร
- เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตผักปลอดสารพิษให้เกิดรายได้
ประโยชน์ที่ได้รับ
- มีระบบน้ำปลูกผักปลอดสารพิษสูบน้ำด้วยโซล่าเซลล์ ในจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์แห่งละ 40 ครอบครัว
- เกษตรกร 40 ราย หรือ ครัวเรือน รวมทั้งสมาชิกที่มีส่วนร่วมในกิจกรรม 160 ราย มีผักไว้บริโภคตลอดปี และมีรายได้ 4,000 บาท/ราย/เดือน รวม 160,000 บาท/เดือน มีรายได้ทั้งสิ้น 1,920,000 บาท/ปี บนที่ดินเกษตรที่ได้รับการจัดสรร 800 ตารางเมตร/ราย
- มีกลุ่มเกษตรกร ที่บริหารจัดการน้ำและระบบโซล่าเซลล์ รวมทั้งกลุ่มปลูกผักและพัฒนาไปเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผักปลอดสารพิษต่อไป
- มีการใช้พลังงานทดแทน คือพลังงานแสงอาทิตย์ ที่สามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์ไปสร้างเงินได้ สามารถลดค่าใช้จ่ายจากการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าได้ 48,000 บาทต่อปีต่อระบบ
- เป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านการปลูกผักปลอดสารพิษ การตลาด การบริหารจัดกลุ่มและพลังงานทดแทน
จำนวนหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด
- ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น, มหาสารคาม และกาฬสินธุ์
- เกษตรกรเข้าร่วม 40 ครัวเรือน รวมทั้งสมาชิกที่มีส่วนร่วมในกิจกรรม 160 ราย
- พื้นที่ 25 ไร่ ต่อ 1 ระบบ สูบน้ำด้วยพลังงานโซล่าเซลล์
ขั้นตอนการดำเนินงาน
- สำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการดำเนินโครงการ ได้แก่ มีที่สาธารณะประโยชน์ มีแหล่งน้ำผิวดินหรือน้ำใต้ดิน ที่เหมาะสมต่อการทำเกษตร
- ประชุมหมู่บ้านเพื่อชี้แจงโครงการ และชี้แจงหลักเกณฑ์ของกลุ่มที่จะเข้าร่วมโครงการ
- นำไปศึกษาดูงาน การผลิตผักปลอดสารพิษในแปลงรวมที่สูบน้ำด้วยระบบโซล่าเซลล์
- ประชุมเพื่อฟังความคิดเห็น มีการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ พร้อมเลือกคณะกรรมการกลุ่ม
- ดำเนินการก่อสร้างระบบน้ำในแปลงผักรวมสูบน้ำด้วยระบบโซล่าเซลล์
- อบรมเพิ่มความรู้และทักษะแก่สมาชิก ได้แก่
(1) การจัดการและบริหารระบบโซล่าเซลล์
(2) การผลิตผักปลอดสารพิษ
(3) การตลาด - เกษตรกรดำเนินการปลูกผัก การจัดการระบบให้น้ำ และการตลาด
- ติดตามและประเมินผล