โครงการบาดาลลอยฟ้า/ธนาคารผัก

ความหมาย

ระบบธนาคารผัก เป็นกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก 2 โครงการหลัก ๆ คือ โครงการบาดาลลอยฟ้า (SKY Irrigation Project phase I, II, III) และการสนับสนุนจากภาคธุรกิจเอกชนภายใต้โครงการธุรกิจเพื่อสังคม (TBIRD) ธนาคารผัก เป็นโครงการส่งเสริมอาชีพการปลูกผักเพื่อเพิ่มรายได้ของชาวชนบท

โดยอาศัยการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยการนำน้ำบาดาลซึ่งเป็นน้ำใต้ดิน หรือ น้ำจากสระน้ำ ลำน้ำ ลำห้วยที่เป็นแหล่งน้ำผิวดินขึ้นมาจัดเก็บในถังคอนกรีตขนาดใหญ่ แล้วจัดส่งเข้าสู่แปลงเกษตร ที่ได้จัดสรรให้แก่ชาวบ้านแปลงละ 800 ตารางเมตร ได้มีน้ำใช้ปลูกผัก และมีรายได้อย่างสม่ำเสมอตลอดปี
โครงการธนาคารผัก ให้โอกาสแก่ชาวบ้านที่ยากจนขาดที่ดินทำกิน ได้มีรายได้แน่นอนโดยไม่ต้องพึ่งพาฝน ช่วยมิให้ชาวบ้านอพยพออกจากหมู่บ้านเพื่อหางานทำตามกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่

เป็นการนำน้ำใต้ดินมาเก็บสำรองไว้ในถังน้ำฝน ขนาด 11.3 ลบ.ม. จำนวน 4 ถัง และพัฒนาพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้านจัดเป็นแปลงปลูกผักขนาด 800 ตร.ม. ให้กับชาวบ้านเข้ามาร่วมโครงการ โดยระบบบาดาลลอยฟ้า 1 ระบบ จะมีสมาชิกประมาณ 30 ราย โดยการดำเนินการบาดาลลอยฟ้านี้ สมาคมฯ ตั้งเป้าหมายให้สมาชิก 1 รายสามารถผลิตและจำหน่ายผักได้วันละ 100 บาท ในพื้นที่ 800 ตร.ม. หรือ เดือนละ 3,000 บาท

 วัตถุประสงค์

  1. เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับกลุ่มคนยากจนผู้ไม่มีที่ดินทำกินให้มีรายได้ และพึ่งตนเองได้
  2. เพื่อนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม
  3. เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในการทำการเกษตรที่ประณีต และการใช้น้ำโดยคำนึงถึงการรักษาสภาพแวดล้อม
  4. เพื่อสร้างกลุ่มองค์กรชาวบ้านในการพัฒนาชุมชน

ประโยชน์ที่ได้รับ

  1. ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น
  2. มีองค์กรในท้องถิ่นเกิดขึ้น
  3. การอพยพแรงงานลดลง
  4. คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น

จำนวนระบบ

170 ระบบ ( ณ ธันวาคม 2562 )

จำนวนหมู่บ้านและประชาชนที่ได้รับประโยชน์

170 หมู่บ้าน ประชาชน จำนวน 5,100 ครัวเรือน 25,500 คน มีรายได้จากการเพาะปลูกผักจากโครงการ

ขั้นตอนการดำเนินงาน

การคัดเลือกหมู่บ้าน

เรื่องแหล่งน้ำ 

  1. ใช้แหล่งน้ำใต้ดินเป็นหลัก และบ่อน้ำต้องอยู่ใกล้ระบบไฟฟ้า
  2. ปริมาณน้ำประมาณ 30 แกลลอน/นาที อัตราการสูบน้ำได้ 6.8 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง หรือมีแหล่งน้ำผิวดินที่เพียงพอ
  3. คุณภาพน้ำเป็นน้ำจืด และมีปริมาณสารเจือปนตามมาตรฐานน้ำใช้เพื่อการเกษตร

เรื่องพื้นที่ 

  1. เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งรกร้างว่างเปล่า สามารถทำการเกษตรได้ 
  2. พื้นที่ทำโครงการต้องไม่ต่ำกว่า 10 ไร่ โดยแบ่งให้สมาชิกทำกิจกรรมคนละประมาณ 2 งาน
  3. พื้นที่ห่างจากจุดสูบน้ำ (บ่อบาดาล) ไม่เกิน 1.5 กิโลเมตร

เรื่องสมาชิก

  1. จะต้องมีจำนวนสมาชิกไม่ต่ำกว่า 15 คน 
  2. มีอาชีพเกษตรกรรม มีความขยัน ซื่อสัตย์ และยากจน  เป็นผู้ไม่มีที่ดินทำกินหรือที่ดินใช้ประโยชน์ไม่ได้
  3. จะต้องมีภูมิลำเนาในหมู่บ้านดำเนินการ

การเตรียมชุมชน

ประชุมชี้แจงโครงการ / รับสมัครสมาชิก/คัดเลือกสมาชิก

การทดสอบน้ำ / การขุดเจาะบ่อบาดาล

ภายหลังการคัดเลือกหมู่บ้านเป้าหมายแล้ว จะดำเนินการทดสอบปริมาณและคุณภาพน้ำในหมู่บ้านว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ การสำรวจพื้นที่และแหล่งน้ำจะดำเนินการร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานรับผิดชอบแหล่งน้ำของสมาคมฯ และศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานนางรอง สำหรับแหล่งน้ำบาดาลจะพิจารณา 2 แหล่ง คือ

  1. บ่อบาดาล ที่มีอยู่แล้วในหมู่บ้าน ได้แก่ บ่อบาดาลของหน่วยงาน รพช. และของกรมทรัพยากรธรณี ทั้งนี้จะต้องผ่านการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพน้ำว่ามีความเหมาะสมที่จะใช้ เพื่อการเกษตรหรือไม้ และต้องได้รับอนุญาตและยินยอมจากหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องก่อน
  2. บ่อบาดาลที่ขุดเจาะขึ้นใหม่ โดยใช้งบประมาณของโครงการ

การก่อสร้างระบบ ประกอบด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. การสร้างถังน้ำ
  2. การวางท่อ
  3. การติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติ 

การคัดเลือกคณะกรรมการบริหารจัดการ

คัดเลือกจากสมาชิก โดยอยู่ในตำแหน่งคราวละ 1 ปี ภายหลังคัดเลือกกรรมการบริหารแล้วจะมีการจัดอบรมการบริหารและการจัดการ โดยมีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหาร จัดการกลุ่มให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ สำหรับสมาชิกที่เข้าโครงการจะต้องมีส่วนในการดำเนินกิจกรรม ดังนี้

  1. ค่าธรรมเนียมสมาชิก 500 บาท/คน
  2. สมาชิกจะต้องร่วมมือกันก่อสร้างระบบจนแล้วเสร็จ
  3. สมาชิกจะต้องเสียค่าจัดตั้งระบบน้ำ โดยผ่อนส่งเดือนละประมาณ 280 บาทต่อเดือน (ค่าตั้งระบบน้ำ 130 บาท ค่าน้ำเฉลี่ยเดือนละประมาณ 150 บาท) เป็นเวลา 36 เดือน
  4. กรณีที่มีผู้สนใจเป็นสมาชิกมากกว่าจำนวนแปลงจะมีการหมุนเวียนให้ทำกิจกรรมคราวละ 2 ปี

การอบรม

จะมีการฝึกอบรมในเรื่อง การบริหารและการจัดการกองทุนแก่คณะกรรมการบริหารและจัดการฝึกอบรมสมาชิก ในด้านการเพาะปลูกและการตลาด 

ส่งเสริมการเพาะปลูก

สำหรับสมาชิกที่ไม่มีเงินทุนจัดทำกิจกรรมจะมีเงินให้กู้ยืมรายละไม่เกิน 2,500 บาท 

การนิเทศและติดตามงาน

การนิเทศและติดตามงาน จะดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ