โครงการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน (สอช.)

ความหมาย

จากการที่ธุรกิจอุตสาหกรรม สามารถสร้างความเข้มแข็งและมั่นคง รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ราษฎรในชนบทได้ และแนวคิดของนายมีชัย วีระไวทยะ ที่ว่า “ทำไมเราต้องย้ายคนจากชนบทไปหาเครื่องจักรในเมือง ทำไมเราไม่ย้ายเครื่องจักรจากในเมืองมาหาคนในชนบท” จึงส่งผลให้เกิดเป็น “โครงการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท (สอช.)” ขึ้น 

วัตถุประสงค์

  1. ส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ขยายกิจการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในชนบท สร้างงานสร้างรายได้ และถ่ายทอดทักษะเชิงธุรกิจให้แก่ชาวชนบท
  2. เน้นการมีส่วนร่วมของราษฎรในพื้นที่ให้มีส่วนเป็นเจ้าของกิจการ ส่งผลให้การพัฒนาชนบท เกิดความยั่งยืน
  3. ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและการทำงานร่วมกัน  ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรท้องถิ่นในระดับหมู่บ้านและตำบลและภาคธุรกิจเอกชนในภาคการผลิต

 

เป้าหมายและขอบเขตของการดำเนินงานโครงการ

เพื่อให้การดำเนินงานของโครงการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชนในแต่ละพื้นที่ มีประสิทธิภาพ และสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุของโครงการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้กำหนดระยะเวลาให้การสนับสนุนช่วยเหลือการดำเนินงานของอุตสาหกรรมชุมชนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 3 ปี โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานตามขอบเขตของงาน ดังนี้

ปีที่ 1 เสริมสร้างให้เกิดการผลิต เป็นหน่วยผลิต/โรงงานในชนบท ราษฎรในพื้นที่มีงานทำ และมีรายได้จากการเข้าร่วมในหน่วยผลิต
ปีที่ 2 ส่งเสริมให้มีการผลิตอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนการพัฒนากลุ่มราษฎรให้เข้าสู่กระบวนการ    มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และการลงทุนในธุรกิจ
ปีที่ 3 ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาหน่วยผลิตหรืออุตสาหกรรมชุมชน และการพัฒนากลุ่มราษฎรให้มีความเข้มแข็ง มีระบบการรวบรวมกลุ่มหรือทำเป็นธุรกิจชุมชนในรูปแบบสหกรณ์

 

พื้นที่ปฏิบัติการ

โครงการจำนวนทั้งสิ้น 85 โครงการ โดยดำเนินงาน ในพื้นที่

  • อ.นางรอง อ.พุทไธสง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์
  • อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น
  • อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
  • อ.จักราช จ.นครราชสีมา
  • อ.เมือง  จ.มหาสารคาม

 

ขั้นตอนการดำเนินงานโครงการ

  1. การเลือกกลุ่มเป้าหมายภาคธุรกิจเอกชน ที่เหมาะสมต่อการลงทุนและขยายฐานการผลิตออกไปสู่ชนบท อาทิ อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรองเท้า อุตสาหกรรมเครื่องหนัง อุตสาหกรรมดอกไม้ ผลไม้ประดิษฐ์ เป็นต้น
  2. การเลือกกลุ่มเป้าหมายราษฎรในพื้นที่ รวบรวม วิเคราะห์ ศักยภาพของหมู่บ้านที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมแต่ละประเภท เช่น แรงงานในการผลิต สถานที่จัดตั้งโรงงาน/หน่วยผลิต กลุ่มอาชีพในพื้นที่
  3. การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ การคัดเลือกภาคธุรกิจเอกชนเข้าร่วมโครงการ จะพิจารณาจากหนังสือแสดงความจำนง และ การตรวจสอบใบอนุญาตตามกฎหมาย ส่วน การคัดเลือกราษฎร/องค์กรชุมชนเข้าร่วมโครงการ จะพิจารณาคัดเลือกจากแฟ้มข้อมูลหมู่บ้านที่มีศักยภาพตามความต้องการของภาคธุรกิจเอกชน
  4. การประสานความร่วมมือ จัดให้ภาคธุรกิจเอกชนพบปะหารือกับกลุ่มราษฎรในพื้นที่เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการดำเนินโครงการ และชี้แจงความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย
  5. การเจรจาร่วมลงทุน ประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณาข้อตกลง แผนการลงทุน และค่าใช้จ่ายของโครงการ จัดหาอาคาร โรงเรือน อุปกรณ์ เครื่องจักรในการฝึกอบรม ตกลงเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานในการผลิต หรือค่าสินค้าที่ผลิตได้
  6. การลงทุน จัดทำแผนการลงทุนโครงการและข้อตกลงความร่วมมือ กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายและลงนามบันทึกความร่วมมือ
  7. การพัฒนาทักษะฝีมือราษฎรผู้เข้าร่วมโครงการด้านการผลิตและการจัดการ จัดทำหลักสูตรแผนการฝึกอบรม และคัดเลือกราษฎรเข้ารับการฝึกอบรมโดยการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน
  8. การจัดตั้งหน่วยผลิต ทำการจัดหาที่ดินหรือสถานที่ตั้งหน่วยผลิต จัดทำแผนการก่อสร้างโรงเรือน การจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต แผนการผลิต การจัดหาวัตถุดิบ การควบคุมมาตรฐาน และการบริหารหน่วยผลิต จากนั้นติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิต และดำเนินการผลิต

 

บทบาทของสมาคมฯ ในการดำเนินงานโครงการ

  1. สนับสนุนการจัดหาแรงงาน  โดยการสำรวจและศึกษาข้อมูลพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ในการพัฒนาให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรม (Village Profile)
  2. จัดทำฐานข้อมูลผู้ผลิต (Business Profile)
  3. วิเคราะห์ประมวลผลประเภทอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่กระจายออกไปสู่ชนบท
  4. คัดเลือกธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีความมั่นคงของกิจการและกลุ่มแรงงานที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการฯ
  5. ดำเนินการให้ทั้งสองฝ่ายลงนามในสัญญาเพื่อร่วมดำเนินงานในโครงการฯ โดยดูแลให้เกิดความยุติธรรม
  6. จัดหาสถานที่และจุดที่ตั้งของหน่วยฝึกอบรม พัฒนาการผลิตและจัดตั้งหน่วยผลิต
  7. ร่วมบริหารโครงการฯ โดยประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง  จัดกิจกรรม แก้ไขและปรับปรุงการทำงาน
  8. เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา อุปสรรค ในการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท
  9. ประชาสัมพันธ์โครงการฯ

 

ผลการดำเนินการ 

กิจกรมมการผลิต

ในภาพรวมกิจกรรมการผลิตที่ดำเนินงานในโครงการ สอช. ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในช่วงปี พ.ศ.2538 – 2548  มีการจ้างงานแรงงานในพื้นที่ดำเนินงานถึง 8,550 คน จากบริษัทอุตสาหกรรมเอกชนจำนวน 75 แห่ง โดยครึ่งหนึ่ง ร้อยละ 51.1 (38 บริษัท) เป็นกิจกรรมการผลิตเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ชุดชั้นใน กางเกงยีนส์ และการปักโลโก้ลงบนตัวเสื้อ  รองลงไป ร้อยละ 37.1 (17 บริษัท) เป็นการผลิตรองเท้า และชิ้นส่วนของรองเท้าผ้าใบ นอกจากนี้กิจกรรมการผลิตอื่นๆ ลำดับรองลงไป ได้แก่ เป็นการผลิตเครื่องหนัง ดอกไม้ประดิษฐ์ชุบยางพารา แปรรูปกระดาษสา ทำของตกแต่งบ้าน ตุ๊กตาผ้า กระเป๋าผ้า พรมเช็ดเท้า  เจียรนัยพลอยและเครื่องประดับ และ อื่นๆ

จำนวนผู้เข้าร่วมและรายได้

ภาพรวมของโครงการจากข้อมูลที่ได้มีการเก็บสถิติตัวเลข ในด้านจำนวนราษฎรที่เข้าร่วมโครงการ รายได้จากการจ้างงานในพื้นที่ ในช่วงระหว่าง พ.ศ.2539-2560 (ครึ่งปีแรก) พบว่า ในปี พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มดำเนินกิจกรรมของโครงการ มีบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 7 แห่ง มีราษฎรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 833 คน  และมีรายได้ที่เกิดจากการจ้างงาน 33,790,000 บาท และหลังจากนั้นได้มีจำนวนบริษัทฯ และจำนวนราษฎรซึ่งเป็นแรงงานในท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่มีบริษัทฯ เข้าร่วมโครงการมากที่สุดคือ ปี พ.ศ.2555 มีบริษัทฯ เข้าร่วมโครงการ จำนวน 45 แห่ง ส่วนปีที่มีราษฎรเข้าร่วมโครงการมากที่สุด คือ พ.ศ.2549 มีราษฎรเข้าร่วมโครงการถึง 10,254 คน และยังเป็นปีที่เกิดรายได้จากการจ้างงานมากที่สุดในตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการ คือ 607,857,120 บาทถ้วน  และในภาพรวมของโครงการได้เกิดรายได้จากการจ้างงานในพื้นที่ถึง 8,033,581,786 บาท