สรุปผลงานโครงการ

การวางแผนครอบครัวและการสาธารณสุข

การวางแผนครอบครัวและการสาธารณสุข

ระบบการให้บริการโดย “อาสาสมัครในชุมชน” หรือ “ระบบชุมชนช่วยชุมชน”

ในช่วงปลายปีพุทธศักราช 2517 โครงการวางแผนครอบครัวชุมชน ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของระบบการให้บริการโดย “อาสาสมัครในชุมชน” หรือ “ระบบชุมชนช่วยชุมชน” (Community-Based Distribution System) กล่าวคือ ในแต่ละหมู่บ้านจะมีอาสาสมัครวางแผนครอบครัวชุมชน จำนวน 1 คน โดยอาสาสมัครฯ ทุกคนจะทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ชักจูงใจผู้รับบริการและให้บริการอุปกรณ์คุมกำเนิด ได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิด ถุงยางอนามัยและแนะนำส่งตัวผู้ที่ประสงค์จะทำหมัน ใส่ห่วง ฉีดยาคุมกำเนิดไปยังโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยที่ใกล้เคียง ด้วยเงินสนับสนุนก้อนแรก จำนวน US$ 2,000 (ประมาณ 50,000 บาท ในเวลานั้น) จาก Dr. Malcolm Potts และต่อมาจึงได้รับการสนับสนุนจากสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ (International Planned Parenthood Federation–IPPF) อีก US$ 10,000 หรือเป็นเงินไทยกว่า 200,000 บาท เพื่อดำเนินการงานวางแผนครอบครัวชุมชนในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศลาว โดยได้ดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่แรก และได้ทำการขยายพื้นที่ดำเนินการออกไปใน 16,000 หมู่บ้าน ใน 157 อำเภอ 48 จังหวัด

มีอาสาสมัครวางแผนครอบครัวชุมชนกว่า 12,000 คน

อาสาสมัครเหล่านี้ทำงานด้วยความเสียสละไม่มีผลตอบแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชมเชยยิ่ง

นอกจากนี้สมาคมฯ ได้ดำเนินโครงการรณรงค์การทำหมันชาย โดยส่งเสริมการทำหมันชายตั้งแต่ปี 2523–ปัจจุบัน เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการเชิญชวนพ่อบ้านที่มีบุตรเพียงพอแล้ว ให้มีส่วนร่วมและมีบทบาทในเรื่องการคุมกำเนิด โดยปัจจุบันใช้ “เทคนิคการทำหมันเจาะ” (Non Scalpel Vasectomy) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ปลอดภัย สะดวก รวดเร็วแผลเล็กเท่าเม็ดข้าวสาร ไม่มีเลือด โครงการรณรงค์การทำหมันชายของสมาคมฯ ได้รับรางวัลดีเด่นด้านการตลาดประจำปี 2527 สาขาส่งเสริมสังคมของ Thailand Marketing Award ผลสำเร็จของโครงการ คือ

การมีผู้รับบริการทำหมันชาย รวม 90,853 คน

สมาคมฯได้ทำสถิติการทำหมันชายสูงสุด ด้วยการให้บริการทำหมันชาย 1,212 คน ในวันที่ 5 ธันวาคม 2530

เมื่องานวางแผนครอบครัวได้แพร่หลายไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจ และตระหนักถึงการวางแผนครอบครัวค่อนข้างดีแล้ว กอปรกับมีหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นกว่าแต่ก่อน สมาคมฯ จึงได้ลดบทบาทงานด้านนี้ลง และได้ให้น้ำหนักกับงานพัฒนาในเขตชุมชนเมืองและชุมชนชนบท ได้แก่ ด้านการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน งานควบคุมและกำจัดโรคหนอนพยาธิ การรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ เป็นต้น โดยการขยายไปตามความต้องการของชุมชน ต่อมาจึงได้เกิดหน่วยงานต่างๆ ตามมา เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาการพื้นบ้าน และสำนักงานบริการสาธารณภัยชุมชน โดยยังคงพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายเป็นหลักในการดำเนินงาน