สรุปผลงานโครงการ

การบรรเทาสาธารณภัยชุมชน

การบรรเทาสาธารณภัยชุมชน

ในช่วงปี พ.ศ. 2523-2533 สมาคมฯ ได้มีส่วนร่วมในการช่วยบรรเทาทุกข์แก่ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งลี้ภัยสงครามและความวุ่นวายในประเทศของตนมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตามชายแดนไทย ซึ่งค่ายผู้ลี้ภัยตามชายแดนไทยเหล่านี้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบร่วมกันของรัฐบาลไทยและ United Nation High Commissioner for the Refugee–UNHCR ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว สมาคมได้ตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจขึ้นมามีชื่อว่า สำนักงานบริการสาธารณภัยชุมชน (Community-Based Emergency Relief Service-CBERS) เพื่อให้ความรู้ คำแนะนำและบริการด้านการวางแผนครอบครัวแก่ผู้ลี้ภัยจำนวน 109,228 ราย เช่น การให้บริการยาเม็ดคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย ยาฉีดคุมกำเนิดโดยใช้ระบบ “อาสาสมัครวางแผนครอบครัว” ชาวกัมพูชา การตรวจรักษาสุขภาพอนามัย และการจัดหาวัตถุดิบอาหารหลัก ซึ่งในแต่ละปีจะต้องใช้วัตถุดิบในการประกอบอาหารกว่า 760 ตัน การจัดระบบเกษตรกรรม และการพัฒนา
ความสามารถในด้านฝีมือแรงงาน โดยได้ดำเนินการในค่ายผู้ลี้ภัย จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ค่ายเขาอีด่าง ค่ายสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี, ค่ายพระยากำพุช จังหวัด
จันทบุรี, ค่ายไม้รูด จังหวัดตราด, ค่ายกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์, และค่ายพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

จากเหตุการณ์ภัยพิบัติทางทะเลเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สึนามิ ใน 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง ระนอง และสตูล
จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้นจำนวนมาก สมาคมฯ ได้ดำเนินการ “โครงการชีวิตใหม่หลังสึนามิ” ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงาน/องค์กรภายในและภายนอกประเทศ เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ประสบภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งโครงการฯ นี้มิได้มุ่งเพียงการช่วยเหลือด้านการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ให้กลับมาดังเดิม แต่ยังเป็น “การพัฒนาศักยภาพของชุมชนโดยรวมให้มีความสามารถพึ่งพาตนเองอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน” ต่อไป

ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานจังหวัดกระบี่ ปัจจุบันนอกจากชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ที่เคยได้รับผลกระทบจากสึนามิ สามารถพึ่งพาตัวเองได้แล้ว พวกเขายังมีจิตใจที่เอื้ออาทรต่อผู้ประสบภัยอื่นๆ เหมือนกับที่เขาเคยประสบภัยมาแล้ว เช่น เมื่อเกิดกรณีพิบัติโคลนถล่มที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2549 ชุมชนในโครงการฯ ได้ร่วมใจกันเสียสละงบประมาณของชุมชนตัวเองประมาณ 1 ล้านบาท และนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจังหวัดอุตรดิตถ์ด้วยตนเองโดยใช้ชื่อว่า “โครงการใต้ช่วยเหนือ”

โครงการสนับสนุนด้านสังคม
(Social Support Project-Tsunami Extension)

จากผลสำเร็จในการดำเนินงานโครงการชีวิตใหม่หลังสึนามิ ดังกล่าวข้างต้น สหภาพยุโรป (EU) จึงให้การสนับสนุนงบประมาณ เพื่อการดำเนินโครงการฝึกอบรมเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มทักษะให้กับกลุ่มอาชีพในจังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต และตรังผลการดำเนินงานในโครงการชีวิตใหม่หลังสึนามิ และโครงการสนับสนุนด้านสังคมฯ ยังคงมีการดำเนินงานต่อเนื่อง โดยสมาคมฯ ยังคงมุ่งมั่นเพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนโดยเน้นการพัฒนาองค์กรชุมชน และแสวงหาแนวร่วมให้เข้ามาร่วมกันพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน