สรุปผลงานโครงการ

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและสุขาภิบาลชุมชน

การพัฒนาแหล่งน้ำ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและสุขาภิบาลชุมชน” ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 โดยระยะแรกของการดำเนินงานจะเน้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องมาจากประชาชนประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันได้ขยายงานพัฒนาแหล่งน้ำและสุขาภิบาลชุมชน ไปในทุกภาคของประเทศไทย ผลจากการดำเนินงานของสมาคมฯ ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตรให้กับชุมชนได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนั้นการดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำและสุขาภิบาลชุมชนของสมาคมฯ ได้เป็นแบบอย่างให้กับชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้มาศึกษาเรียนรู้ และนำไปปฏิบัติ สมาชิกจะได้รับการอบรมวิธีการก่อสร้างและร่วมแรงในการก่อสร้าง ขณะเดียวกันจะต้องชำระคืนค่าวัสดุอุปกรณ์ เพื่อเป็นเงินกองทุนหมุนเวียนให้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไป

หลักการสำคัญของการดำเนินงาน คือ ให้ชุมชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การประชุมวางแผนการดำเนินงาน การก่อสร้าง การบริหารจัดการ การซ่อมบำรุง

ในปี พ.ศ.2550 ธนาคารโลก (World Bank) ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในการฝึกอบรมและสร้างศักยภาพของชาวบ้าน ในการดำเนินโครงการ Rural Water เขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้หลักการดำเนินงานที่มุ่งให้ชาวบ้านมีศักยภาพในการติดต่อจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อก่อสร้างระบบประปา และผ่อนชำระเอง ส่วนหนึ่งของการฝึกอบรม จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการ และการบำรุงรักษาระบบ โครงการนี้ได้รับการประเมินจากองค์กร PPIAF (Public-Private Infar-structure Advisory Facility) ว่าเป็นโครงการดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จและเป็นต้นแบบในการดำเนินงานด้านพัฒนาแหล่งน้ำของหน่วยงานภาครัฐ

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำของสมาคมฯ เป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานต่างประเทศได้เข้ามาศึกษาดูงานการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องมากกว่า 30 ประเทศ

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นในพื้นที่ดำเนินงานของศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 ในโครงการปลูกป่าชุมชน (Community Afforestation Project : CAP) โดยการให้ความรู้สร้างความเข้าใจในประโยชน์ของป่าและสิ่งแวดล้อมพร้อมทั้งชักชวนประชาชนร่วมกันปลูกต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้าน

ปี 2528 จึงพัฒนาโครงการให้มีรูปแบบการทำงานที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยให้ประชาชนเป็นผู้ดูแล และจัดตั้ง “คณะกรรมการปลูกป่าชุมชน” เป็นผู้บริหารโครงการ มีการปลูกซ่อมเสริมป่าเดิม กำหนดกฎ กติกาในการใช้ประโยชน์

ปี 2537 สมาคมฯ ได้ร่วมกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จัดทำโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวน 1 ล้านไร่ โดยยึดแนวทางว่า การปลูกป่าจะต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตคนรอบๆ แปลงปลูกป่าไปด้วย สมาคมฯจึงได้เข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน ที่อยู่รอบแปลงปลูกป่าที่ทาง ปตท.ดำเนินการ รวมกับการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-สหภาพพม่า รวมทั้งสิ้นมีจำนวนทั้งสิ้น 150 หมู่บ้าน 57 ตำบล 30 อำเภอ 15 จังหวัด

ผลของการดำเนินโครงการ ได้สร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนในหลายชุมชน ที่สามารถบริหารจัดการและดูแลทรัพยากรภายในท้องถิ่นของตนเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้เนื่องมาจาก สมาคมฯดำเนินโครงการได้อย่างรอบด้าน ครอบคลุมทุกมิติทางสังคม มิได้มองแต่เพียงสิ่งแวดล้อมแยกส่วนจากสังคม จึงทำให้เกิดความเกื้อกูลกันทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยมีกลไลของ “เงินกองทุนสนับสนุนอาชีพ” ที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้โครงการ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อมาพัฒนามาเป็นการออมทรัพย์และการให้กู้ยืมภายในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการระดมทรัพยากรภายในท้องถิ่นของตนเอง

สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน คู่กับการพัฒนาศักยภาพของชุมชน

การจัดตั้งองค์กรท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์ขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ผาแต้ม และเขาค้อ รวมถึงการจัดทำโครงการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนโดยมีคณะครูและนักเรียนรวม 1,200 โรงเรียน มีการผลิตคู่มือครู โครงการสิ่งแวดล้อมชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดอบรมสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดชมรมสิ่งแวดล้อมและสมาคมพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชนด้วย

สมาคมฯ ได้รับรางวัล GLOBAL 500 จาก UNITED NATION ENVIRONMENT PROGRAME (UNEP) ด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จากโครงการปลูกป่าที่ หมู่บ้านซับใต้ตำบลพญาเย็น อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์รัพยากรธรรมชาติ จากกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม