สรุปผลงานโครงการ

การพัฒนาคุณภาพชีวิต

การพัฒนาคุณภาพชีวิต

การดำเนินงานของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ในลำดับต่อมามิได้เป็นเพียงโครงการเดี่ยวเหมือนเมื่อในอดีต หากแต่มีการบูรณาการทุกมิติของชุมชนเข้าด้วยกัน ที่เรียกว่า “โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต” โดยรวมมิติของสุขภาพอนามัย ด้านเศรษฐกิจการสร้างรายได้ลดรายจ่าย ด้านการจัดหาทรัพยากรน้ำบริโภค อุปโภค ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการบริหารจัดการกลุ่มและองค์กร บทบาทชายหญิงความเท่าเทียม ฯลฯ เข้าไว้ด้วยกันซึ่งเป็น “การบูรณารงานพัฒนาแบบองค์รวม” (Holistic) ที่มีเป้าหมายหลัก คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามความต้องการของชุมชนเป็นหลัก โดยก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ หรือกิจกรรมต่างๆสมาคมฯ โดยฝ่ายวิจัยและสารสนเทศ จะดำเนินการสำรวจ ศึกษาและจัดทำแผน ร่วมกันกับชุมชนอย่างมีส่วนร่วม หลังจากนั้นจึงได้นำมาออกแบบกิจกรรมตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งเป็น “กระบวนการสร้างความมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างแท้จริง”

ร่วมคิด…ร่วมวางแผน…ร่วมปฏิบัติ…ร่วมประเมิน

การพัฒนาคุณภาพชีวิต
โครงการ โรงไฟฟ้าราชบุรีพัฒนา จังหวัดราชบุรี

บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุนโดยเริ่มดำเนินงานเดือน มิถุนายน 2547 โดยมีศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานราชบุรี เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานโครงการฯ และเป็นสถานที่สาธิตฝึกอบรมเผยแพร่ความรู้ ให้การศึกษาดูงานแก่ผู้สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ชุมชนในโครงการลักษณะของการดำเนินงานจะมุ่งเน้นในการเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน พัฒนาอาชีพเพื่อสร้างรายได้ โดยมีธนาคารพัฒนาหมู่บ้านเป็นแหล่งสนับสนุนเงินทุน การดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยและผู้สูงอายุ พื้นที่ดำเนินงาน ในเขตจังหวัดราชบุรี ครอบคลุมใน 3 อำเภอ 9 ตำบล 84 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมือง 4 ตำบล 32 หมู่บ้าน อำเภอโพธาราม 2 ตำบล 21 หมู่บ้าน อำเภอดำเนินสะดวก 2 ตำบล 20 หมู่บ้าน และอำเภอบางแพ 1 ตำบล 11 หมู่บ้าน และเน้นกิจกรรมพัฒนาเชิงลึกใน 10 หมู่บ้าน ในพื้นที่ติดรั้วโรงไฟฟ้าราชบุรี

โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พื้นที่ดำเนินโครงการครอบคลุม 5 ตำบลในอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยมีเป้าหมายดำเนินโครงการ 9 ปี แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะๆ ละ 3 ปี โดยระยะที่ 1 เป็นการพัฒนาความพร้อมในด้านต่างๆ
ระยะที่ 2 เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มและองค์กร ระยะที่ 3 เป็นการฟูมฟักกลุ่มและองค์กรให้สามารถพึ่งตนเอง และพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน

โดยมีศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานแม่เมาะ เป็นศูนย์กลางในการดำเนินโครงการฯ และศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานประจำตำบล 2 แห่ง ที่ตำบลสบป้าดและตำบลบ้านดง เป็นศูนย์กลางในการประสานงานระดับตำบล กิจกรรมหลักที่ดำเนินงานจะประกอบด้วย: การจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านรักษ์แม่เมาะ การพัฒนาด้านอาชีพ สุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อม เยาวชนและแหล่งท่องเที่ยว การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และการประชาสัมพันธ์ ทางวิทยุรายการ To add Radio ทางคลื่นวิทยุชุมชนแม่เมาะ 90.5 MHz ทุกวันพฤหัสบดี เวลา10.00-12.00 น. เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการฯ และกิจกรรมงานพัฒนาในพื้นที่ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ผ่านทางเอกสารสิ่งพิมพ์

โครงการ พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตามแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ไทย-สหภาพพม่า

จากการที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้วางท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-สหภาพพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2540 เพื่อนำก๊าซธรรมชาติมาผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้า
ราชบุรี ในการวางท่อได้ผ่านพื้นที่ ป่า เขา พื้นที่การเกษตร 234 กิโลเมตร ทำให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง สมาคมฯ โดยศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานไทรโยค ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนบริเวณพื้นที่แนวท่อส่งก๊าซฯ

พื้นที่เป้าหมายโครงการฯ ในจังหวัดกาญจนบุรี 30 หมู่บ้านใน 11 ตำบล และจังหวัดราชบุรี 15 หมู่บ้าน ใน 5 ตำบล ปัจจุบันผลของการดำเนินโครงการฯ สามารถทำให้ชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขและยั่งยืนมากขึ้น

โครงการเครือเบทาโกรพัฒนา

เป็นโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนบริเวณพื้นที่ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี จำนวน 13 หมู่บ้าน ที่ได้รับการสนับสนุนจาก
เครือเบทาโกร และใช้ชื่อว่า “โครงการเครือเบทาโกรพัฒนา” เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 โดยเน้นการมีส่วนร่วมขององค์กรประชาชนในการสร้างอาชีพและรายได้ผ่านระบบของธนาคารพัฒนาหมู่บ้าน การดูแลด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเยาวชนและผู้สูงอายุ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาอย่างยั่งยืน