pda-fouder-mechai-500x600

นายมีชัย วีระไวทยะ

ผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน

ชีวิตการทำงานของผมใน PDA แบ่งได้เป็น 5 ด้าน

1.

ทำให้เกิดน้อยลง

โดยจัดโครงการวางแผนครอบครัวในเขตเมืองและเขตชนบทให้บริการยาเม็ดคุมกำเนิดและถุงยางอนามัยผ่านระบบอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 คน และระบบคลีนิคชุมชน ให้บริการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด ยาสอดคุมกำเนิด ยาฉีด และจัดทำโครงการหมันชุมชนให้บริการทำหมันชายฟรี และมีให้บริการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด ยาสอดคุมกำเนิด

2.

ทำให้ตายน้อยลง

โดยการจัดทำโครงการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์แก่ประชาชนด้วย การบรรยาย ,ผลิตเทปโทรทัศน์ ,การผลิตสือโฆษณาทางโทรทัศน์ ,โฆษณาทางวิทยุ ,จัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ และจัดกิจกรรมCondom Night

3.

ทำให้จนน้อยลง

โดยการจัดทำโครงการส่งเสริมรายได้สร้างอาชีพ เช่นส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ส่งเสริมการเพาะปลูก ส่งเสริมหัตกรรมพื้นเมือง ส่งเสริมสินค้าชุมชน โครงการธนาคารผัก จัดตั้งกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมชนบท(สอช.) เป็นต้น

4.

ทำให้โง่น้อยลง

เริ่มตั้งแต่การให้ทุนการศึกษา อบรมให้ความรู้ในด้านต่างๆ แก่ประชาชน  และจัดตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา  ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบที่ชาวต่างชาติยอมรับว่ามีคุณภาพเทียบเท่าโรงเรียนนานาชาติ

5.

ทำให้งกน้อยลง

พยายามทำให้คนมีจิตสาธารณะ รู้จักแบ่งปัน ช่วยเหลือและร่วมเป็นอาสาสมัครรวมถึงการจัดตั้งห้องสมุดของเล่นประจำหมู่บ้าน และกระตุ้นให้นักเรียนมีความสนใจช่วยเหลือสังคมในลักษณะต่างๆ

pda-fouder-02-1000x400

เริ่มต้นจากสมัยที่ผมทำงานอยู่ที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและได้ออกไปปฏิบัติงานในจังหวัดต่างๆ สังเกตเห็นว่ามีเด็กเล็กวิ่งเล่นตามหมู่บ้านมากมาย จึงเกิดความสงสัย
หลังจากนั้นได้ศึกษาข้อมูลต่างๆ จนพบว่าอัตราการเกิด และอัตราการเพิ่มของประชากรของประเทศในขณะนั้นสูงถึงร้อยละ 3.3   ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก
อาจทำให้งานพัฒนาแบบที่ทำอยู่ตามไม่ทันกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงคิดว่าจะต้องมี โครงการชะลอการเกิด ในระหว่างนั้นก็พยายามกระตุ้นให้รัฐบาลหันมาสนใจปัญหาประชากร ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง

ในที่สุดก็ตัดสินใจลาออกจากสภาพัฒน์ฯ เพื่อทำงานในเรื่องนี้อย่างจริงจัง  โดยเข้าร่วมงานกับสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย เริ่มจากการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาก่อน  ต่อมาได้รับเลือกเป็นเลขาธิการ
ทำงานได้ระยะหนึ่ง จนเห็นว่าเราควรจะเริ่มทำโครงการที่มีลักษณะใหม่  ไม่เหมือนของเก่า   จึงได้ออกมาตั้ง  “สำนักงานบริการวางแผนครอบครัวชุมชน” และได้เช่าสำนักงานอยู่ที่สุขุมวิท ซอย 14  หลังจากนั้น 3 ปี จึงได้ย้ายมาอยู่ที่สุขุมวิท ซอย 12 ในปี พ.ศ. 2520 ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ชื่อ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน  โดยมีคำขวัญว่า  “ลูกมากจะยากจน”   ในช่วงเริ่มต้นก่อตั้งสำนักงานบริการวางแผนครอบครัวชุมชน  เราได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากบุคคลสำคัญที่จะต้องจดจำไว้เป็นประวัติศาสตร์ของสมาคมฯ 2 ท่านได้แก่นายแพทย์อัลแลน โรเซนฟีลด์   (Dr.Allan Rosenfield, MD.) และ ดร.นายแพทย์  มัลคอล์ม พ๊อทส์ (Dr.Malcolm Potts, MD, PhD.) ผมได้รู้จักทั้ง 2 ท่าน จากการประชุมสัมมนาเรื่องประชากรที่จังหวัดเชียงใหม่   จัดโดย Population Council   ซึ่งการประชุม  ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่อง การใช้สื่อ 6 เดือนผ่านไปก็ยังไม่เกิดผล  ต่อมาผมได้หารือกับทั้ง 2 ท่านว่า  รัฐบาลได้ประกาศนโยบายประชากรแห่งชาติในปี พ.ศ.2513 แต่ว่ามีการทำงานไม่กว้างและไม่มีการประชาสัมพันธ์ ผมเห็นว่าเราจำเป็นต้องช่วยกระตุ้นให้ความรู้ และขยายการให้บริการยาเม็ดคุมกำเนิด  และถุงยางอนามัยไปสู่ชนบท เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยได้เขียน  โครงการวางแผนครอบครัวชุมชน ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในระบบ Community  Based  Distribution System : CBD มีวัตถุประสงค์  อบรมชาวบ้าน และครูให้เป็นอาสาสมัคร  เพื่อเผยแพร่ความรู้และให้บริการยาเม็ดคุมกำเนิดและถุงยางอนามัยให้แก่ชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลชุมชนและสถานพยาบาลซึ่งนายแพทย์ทั้ง 2 ท่าน ได้ร่วมกันสนับสนุนและประสานงานจนโครงการได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ   International Planned Parenthood Federation (IPPF)

แต่โครงการวางแผนครอบครัวชุมชนซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก IPPF จะต้องนำเสนอเพื่อขออนุมัติจากณะกรรมการวางแผนครอบครัวแห่งชาติซึ่งหลังจากเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการแก่คณะกรรมการวางแผนครอบครัวแห่งชาติ   กรรมการบางคนในคณะกรรมการได้มีข้อปรารภว่า   การจ่ายยาคุมกำเนิดเป็นหน้าที่ของหมอ พยาบาลและผดุงครรภ์เท่านั้น ไม่ควรให้ชาวบ้านจ่ายยาคุม  ด้วยความเข้าใจและอยากให้โครงการเกิด นายแพทย์เชิด  โทณะวณิก อธิบดีกรมการแพทย์และอนามัยในขณะนั้นได้เสนอว่า  แพทย์จากกรมการแพทย์และอนามัยในอำเภอต่างๆ    จะเป็นที่ปรึกษาให้แก่อาสาสมัครวางแผนครอบครัวของโครงการซึ่งทำให้โครงการได้รับอนุมัติให้ดำเนินการได้ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2517   ด้วยทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก IPPF  เป็นเวลา 5  ปี   และเรามีนายแพทย์สาธารณสุขอำเภอเป็นที่ปรึกษาโครงการทั้ง 73 อำเภอ   ทั่วประเทศในระยะแรก

การดำเนินงานวางแผนครอบครัวชุมชนในช่วงแรกเริ่มต้นด้วย  การอบรมอาสาสมัครชาวบ้านให้รู้ถึงผลเสียของการมีลูกมาก รู้จักยาเม็ดคุมกำเนิด  และถุงยางอนามัย ในการเปิดตัวโครงการ  นายแพทย์เชิด โทณะวณิก ได้เชิญผมไปพูดเรื่องโครงการเพื่อชักจูงให้แพทย์ที่อยู่ในชนบทหันมาสนใจและสนับสนุนโครงการของเรา   ซึ่งส่วนใหญ่นิ่ง  ยกเว้นแพทย์เพียง  1 คน จากอำเภอบางละมุง   คือ นายแพทย์คม ป้องขันธุ์    ได้ยกมือและพูดว่า    ผมอยากร่วมมือกับโครงการ  อำเภอบางละมุงจึงเป็นอำเภอแรกที่เราเปิดดำเนินการและอีก 72 อำเภอก็เปิดต่อๆ   กันมาโดยแพทย์เริ่มเข้าใจและสนใจร่วมมือกับเรา   นอกจากการอบรมชาวบ้านแล้วเรายังอบรมอาสาสมัครครูวางแผนครอบครัวภาคฤดูร้อน (อบรม อสร.) โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถานพยาบาลคุรุสภา   ซึ่งมีนายแพทย์พงษ์ศักดิ์  วิทยากร    เป็นผู้อำนวยการในขณะนั้น  กระทรวงสาธารณสุขให้การช่วยเหลือโครงการด้วยการสนับสนุนอุปกรณ์คุมกำเนิด (ยาเม็ดคุมกำเนิดและถุงยางอนามัย)  มาตลอด 20 กว่าปี

ผู้มีส่วนช่วยให้งานสำเร็จมีอีก  2   ท่านที่จะต้องกล่าวถึงคือ คุณธวัชชัย  ไตรทองอยู่ (เลขาธิการสมาคมฯ)  กับคุณสุธา ชัชวาลวงศ์  (ที่ปรึกษาอาวุโส)  เดิมเรา 3 คน  ทำงานที่สภาพัฒน์ฯ (สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ด้วยกัน พอผมลาออกมาทำงานที่สมาคมวางแผนครอบครัว คุณธวัชชัยก็ยังมาช่วยงานในตอนเย็นแต่พอผมตั้งสำนักงานบริการวางแผนครอบครัวชุมชน  คุณธวัชชัย ก็ลาออกจากสภาพัฒน์ฯ และมาร่วมทำงานเต็มเวลาและช่วยบริหารจัดการดูแล ให้สมาคมฯ มีความมั่นคงจนถึงปัจจุบัน ส่วนคุณสุธา ลาออกเมื่อเราเปิดคลีนิคชุมชนที่พัฒน์พงศ์ ซึ่งเปิดทำงาน 12.00–24.00 น. คุณสุธา ถูกใจมาก   เพราะชอบทั้งเวลาทำงานและสถานที่ สำหรับคลินิกชุมชนที่พัฒน์พงศ์นั้น ต่อมาเติบโตเป็น   บริษัท พัฒนาประชากร จำกัดในปัจจุบัน  และเป็นบริษัทฯ ที่สนับสนุนให้สมาคมฯ ดำเนินงานสาธารณประโยชน์ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

งานที่เราทำ  ได้รับความร่วมมือจาก หน่วยงานราชการเป็นอย่างดี และในที่สุดผลงานของชาติ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้นำ ทำให้ประเทศไทยสามารถลดจำนวนบุตรในแต่ละครอบครัวจาก 7 คน เหลือ 2 คน  และอัตราการเพิ่มประชากรลดลงจาก ร้อยละ3.3  เป็นร้อยละ2.5   ดังนั้นเราต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาสให้มีโอกาสมากขึ้น ได้แก่การสร้างศูนย์พัฒนาชนบทสมผสาน (Community Based  Integrated  Rural Development Center : CBIRD)   จำนวน 16 แห่ง  ใน 11 จังหวัด เป็นศูนย์เรียนรู้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมความรู้และทักษะด้านต่างๆ โครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัย เช่น  สร้างโอ่ง  ส้วม  ถังน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค โครงการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยพิบัติโครงการฝึกอบรมนานาชาติด้วยการเผยแพร่ ประสบการณ์ในการทำงานของสมาคมฯและที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้คือโครงการร่วมพัฒนาหมู่บ้าน  (Village Development Partnership : VDP) ในอำเภอต่างๆ  ในจังหวัดบุรีรัมย์  ขอนแก่น  มหาสารคาม  และนครราชสีมา  ประมาณ 150 หมู่บ้าน

สำหรับโครงการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวี   ได้ดำเนินการในลักษณะของโครงการเงินกู้สายสัมพันธ์   หรือเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง    ในชื่อโครงการปาท่องโก๋  (Positive Partnership Program)    ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี  สามารถยกระดับชีวิตของตนให้พ้นจากความยากจน และลดการรังเกียจด้วยการสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบหุ้นส่วนธุรกิจระหว่างผู้ติดเชื้อและผู้ไม่ติดเชื้อ    ซึ่งโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ  และเป็นโครงการดีเด่น (Best Practice)    ของยูเอ็นเอดส์  (UNAIDS)  นอกจากนี้จะขยายความช่วยเหลือไปสู่ผู้ด้อยโอกาสในลักษณะพี่ใหญ่ช่วยน้องเล็ก   โดยดำเนินการเพิ่มเติมกับกลุ่มประชาชนที่ทุพพลภาพ  รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากภัยทุ่นระเบิด   คนพ้นโทษ   ผู้หญิงกับเด็กกำพร้าและคนพิการกับคนไม่พิการรวมทั้งแม่หม้าย  ให้หาคู่บัดดี้ (Buddy)  ที่ไม่มีปัญหาเช่นเดียวกับเขามาเข้ารับการฝึกอบรม และให้เงินกู้ประกอบอาชีพเพื่อนำเขากลับไปสู่สังคมอย่างปกติ ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น

ถึงแม้จะพ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการแล้ว  แต่ผมยังเป็นนายกสมาคมฯ  อยู่และเต็มใจจะช่วยเหลือสมาคมฯต่อไปในด้านนโยบาย การหาทุน และความคิดเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ขณะนี้ผมใช้เวลาส่วนหนึ่งดูแลงานด้านส่งเสริมการศึกษา โดยเฉพาะการสร้างโรงเรียนมัธยม ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ด้วยการใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างอาคารเรียน และอาคารอเนกประสงค์ ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและการลดภาวะโลกร้อน เพื่อต่อยอดให้กับนักเรียนที่จบจากโรงเรียนประถม  ซึ่งสร้างและสนับสนุนการดำเนินงานโดยภาคธุรกิจเอกชน   โรงเรียนประถมแห่งนี้ได้รับการประเมินผลระบบการศึกษาโดยมหาวิทยาลัย ทัสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย  ว่าเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพในระดับสากลและมีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานโรงเรียนนานาชาติ     สำหรับโรงเรียนมัธยม ผมเป็นผู้ก่อตั้ง โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจเอกชน นอกจากนั้นยังได้รับความช่วยเหลือ   จากบางครอบครัว ทั้งในและนอกประเทศ โดยให้โรงเรียนอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของมูลนิธิใหม่ที่มีชื่อว่ามูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ  ในปีการศึกษา 2552   เปิดรับนักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1   เป็นปีแรกจำนวน  30  คน  โดยในปีการศึกษา 2553 จะมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  โรงเรียนของเราได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน  ที่มาศึกษาดูงานระบบการเรียนการสอน ที่เน้นการสร้างคนดีมีจิตสาธารณะ

ในเรื่องของโรงเรียน ผมมีแนวคิดที่จะใช้โรงเรียนเป็นศูนย์เรียนรู้ (School-Based Integrated Rural Development Project : School-BIRD) เป็นจุดที่กระตุ้นความคิดและให้ความรู้แก่ทุกคนในชุมชนในทุกเรื่อง เช่น กฏหมาย ประชาธิปไตย อาชีพ และเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและพร้อมเป็นศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงโดยร่วมมือกับครอบครัว เด็กเล็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ  ให้ปู่ย่า ตายาย ได้สอนเด็กในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถีชีวิตเพื่อให้เด็กรักถิ่นเกิด

สิ่งที่เริ่มดำเนินการใหม่ในปี 2553  คือการกระตุ้น เพื่อสร้างจิตสำนึกให้คนไทยมีจิตอาสา โดยหวังว่าในระยะยาว ประเทศไทยจะมีผู้ที่มีจิตสาธารณะที่ปรารถนาจะให้สังคมดีขึ้น โดยเริ่มต้นที่โครงการของเล่นประจำหมู่บ้าน  และในกลางปี 2553  จะเริ่มเข้าไปในโรงเรียน   กระตุ้นให้เด็กประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น    มีความสนใจจะร่วมกันทำให้สังคมดีขึ้น และจะเริ่มโครงการอาสาสมัครพัฒนาชนบท ซึ่งหวังว่าจะเป็นโครงการร่วมระหว่างสมาคมฯ กับมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ

นอกจากนี้ยังปรารถนาที่จะให้มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ  เป็นหน่วยงานเล็กๆ  ที่เริ่มทดลองศึกษาค้นหาแนวทางพัฒนาใหม่ๆ และเมื่อประสบความสำเร็จ  สามารถนำไปดำเนินการและขยายผลต่อไปได้  หากสมาคมฯ สนใจ ผมถือว่ามูลนิธิใหม่นี้เปรียบเสมือนน้องใหม่ของสมาคมฯ

ตลอดชีวิตการทำงาน  ผมมีเพื่อนร่วมงานที่ดี คอยสนับสนุนและช่วยเหลือ  และในขณะเดียวกันมีโอกาสได้ทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ในตำแหน่งต่างๆ   แต่หน่วยงานที่ทำให้ผมและครอบครัวมีความสุขมากที่สุด คือ  สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน